Last updated: 17 ก.พ. 2566 | 740 จำนวนผู้เข้าชม |
วิธีการบำบัด-ผู้เสพสารเสพติด รวมถึงเหล้าและบุหรี่
(ในวิธีการจากภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย)
บทความนำเสนอโดย:
อาจารย์แพทย์แผนไทยคมสัน ทินกร ณ อยุธยา
แพทย์แผนไทย ใช้วิธีบำบัดเพื่อรักษา บำบัด หมายถึง ทำให้เสื่อมคลาย รักษา มาจากคำว่ารักษ์ หมายถึงระวัง
แพทย์แผนไทยจึงบำบัด เพื่อนำสู่การรักษา บำบัดเพื่อหวังผลสามประการกล่าวคือ
1. เพื่อทำให้พิษที่ได้รับจากสารเสพติดนั้นคลายลง
2. เพื่อลดความอยากยา อย่างค่อยเป็นค่อยไป
3. เพื่อรักษาใจ ไม่ให้กลับมาเสพติดอีกครั้ง
เมื่อการบำบัดนั้นส่งผลและเป็นผลที่เสถียรในระดับหนึ่งแล้ว จึงนำเข้าสู่การรักษาต่อไป เพื่อให้การบำบัดนั้นยั่งยืน
โดยวิธีการรักษานั้นแบ่งออกเป็นสองวิธีกล่าวคือ
1. การให้ยารักษา
2. การใช้หัตถการไทยร่วมกับการรักษา
การใช้ตำรับยา และการบำบัดนั้นใช้สมุนไพรทั้งสิ้น ให้ผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยกว่าและเป็นการบำบัดรักษาไปที่รูปคือร่างกาย ไปที่นามคือใจ พร้อมทั้งรูปและนามไปพร้อมกัน ซึ่งจะอรรถาธิบายขยายความเป็นลำดับถัดไปดังนี้
ขั้นตอนในการบำบัด เพื่อลดปริมาณการใช้สารเสพติด รวมถึงเหล้าและบุหรี่
1. การคัดสรรผู้เข้ารับการบำบัดสารเสพติดโดยความสมัครใจ
- นามคือใจนั้นสำคัญมากสำหรับผู้เสพสารเสพติด ต้องสมัครใจที่จะเลิกสารเสพติดนั่นเอง หากใช้กฏเกณฑ์ หรือการบังคับจะมีโอกาสสูงมากที่ผู้เสพนั้นจะกลับไปเสพติดอีกครั้ง
- เป็นความสมัครใจเพียงเพื่อทดลองการลดการใช้เสพสารเสพติดลง มิใช่เพื่อให้เลิกเสพติดอย่างถาวร ฉะนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะมีผู้สมัครใจ
- แบ่งกลุ่มตามอายุสมุฏฐานในการแพทย์แผนไทยเป็น ปฐมวัย-เสมหะสมุฏฐาน มัญชิมวัย-ปิตตะสมุฏฐาน และปัจฉิมวัย -วาตะสมุฏฐาน ซึ่งมีวิธีการบำบัดด้วยตำรับยาและหัตถการที่ต่างกันไป ทั้งรูปและนาม
- แบ่งตามเพศ และรสนิยมทางเพศ เพื่อการบำบัดทางนามจะได้ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เข้าใจระหว่างกัน เกื้อกูลกันได้มากขึ้น
2. กิจกรรมกลุ่ม โดยแพทย์แผนไทย
- กิจกรรมความรู้พื้นฐานในการใช้สมุนไพรเพื่อลดสารพิษเสพติดในร่างกายด้วยตนเอง
- กิจกรรมความรู้หัตถการไทยเพื่อลดสารพิษในร่างกายด้วยตนเอง
- กิจกรรมความรู้หัตถการไทยเพื่อความผ่อนคลายด้วยตนเอง
- กิจกรรมโภชนาการศาสตร์ในการแพทย์แผนไทยเพื่อบำรุงร่างกายให้ฟื้นคืน
3. การใช้ตำรับยาเพื่อชำระสารพิษในร่างกาย
- วางตำรับยาไทยชำระพิษในร่างกายให้กับผู้เข้ารับการบำบัด (ตำรับยาพิษพินาศ)
- วางตำรับยาธรณีสัณฑฆาต เพื่อชำระพิษน้ำเหลืองเสีย จากการใช้สารเสพติด
- วางน้ำกระสายยาขับพิษทางระบบทางเดินปัสสาวะ และระบบเหงื่อ
- วางน้ำกระสายยาลดความอยากเหล้าและบุหรี่
* ซึ่งจะวางแตกต่างกันตามอายุสมุฏฐาน
4. การใช้หัตถการไทยเพื่อชำระสารพิษในร่างกาย
- หัตถการเข้ากระโจมยา ด้วยตำรับยาชำระพิษ สลับกับตำรับยาในระบบทางเดินหายใจ และเพื่อทำให้ระบบเลือดลมไหลเวียนได้ดีขึ้น
- หัตถการสระยา และแช่น้ำว่านยา เพื่อลดความร้อนและความเย็นภายในกาย อันมาแต่ผลของสารเสพติด ทำให้รู้สึกสบายและผ่อนคลาย
5. การให้สารเสพติดทดแทนกับผู้ที่สมัครใจเข้ารับการบำบัด
- ใช้กัญชา ขี้ฝิ่นและใบกระท่อมเพื่อการแพทย์ ในปริมาณที่เหมาะสม เช่นน้ำมันกัญชา หรือใบกัญชาสูบ หรือน้ำกระท่อม หรือยาดองเหล้า หรือตำรับยาอดฝิ่น หรือบุหรี่ผสมยาตั้งและสมุนไพรอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้อาการลงแดงจากสารเสพติดที่ร้ายแรงกว่าลดลง และไม่ก่อให้เกิดทุกขเวทนามากนัก ซึ่งจะใช้เฉพาะในขั้นตอนการบำบัดเท่านั้น และเมื่อผ่านขบวนการรักษาจะทำให้ไม่เสพติด สารเสพติดทดแทนนี้ต่อไป
- ผู้สมัครใจใช้สารเสพติดทดแทน มีโอกาสมากกว่าที่จะลดปริมาณการใช้สารเสพติดที่เสพอยู่มากขึ้นกว่าเดิม
สูตรตำรับกระสายเบื่อยา~เหล้า~บุหรี่
ส่วนประกอบ
- หญ้าดอกขาว
- ลูกมะขามป้อม
- ผักกาดน้ำ
- ใบโปร่งฟ้า
* ทั้งหมดส่วนเสมอ ต้มเดือดแล้วกรอง ปริมาณสองส่วน
- รากมะนาว
- รากนมนาง
- ผิวมะนาว
* ทั้งหมดส่วนเสมอ ต้มเดือดแล้วกรอง ปริมาณหนึ่งส่วน
- น้ำมะนาวคั้นสด
* ปริมาณหนึ่งส่วน
นำทั้งหมดลงผสมตามส่วนที่แจ้ง ใช้จิบเมื่อรู้สึกอยากเหล้า~อยากบุหรี่
ในลำดับการบำบัดทั้ง5ขั้นตอนดังกล่าวมาข้างต้นนี้จะช่วยเกื้อกูลประสานกันในทุกกิจกรรม ซึ่งหวังผลเพียงเพื่อลดปริมาณการใช้เสพสารเสพติดแต่ละชนิดลงทีละน้อยเท่านั้น มิได้มุ่งหวังให้ผู้เสพเลิกเสพติดอย่างถาวร ซึ่งนั่นจะอยู่ในขั้นตอนการรักษาดังจะกล่าวต่อไปนี้ในบทว่าด้วยการรักษาเพื่อให้เลิกเสพติดอย่างยั่งยืน รวมไปจนถึงเหล้าและบุหรี่ด้วย
ติดตามภาค2 ว่าด้วยวิธีการรักษา