”ภูมิศาสตร์~ภูมิอากาศ~ในการแพทย์แผนไทย“

Last updated: 26 ก.พ. 2567  |  230 จำนวนผู้เข้าชม  | 

”ภูมิศาสตร์~ภูมิอากาศ~ในการแพทย์แผนไทย“

”ภูมิศาสตร์~ภูมิอากาศ~ในการแพทย์แผนไทย“


โดย: อาจารย์แพทย์แผนไทยคมสัน ทินกร ณ อยุธยา


พระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์และคัมภีร์ธาตุวิภังค์ของการแพทย์แผนไทยนั้นกล่าวถึงเรื่องของฤดู,อุตุ,กาล,ประเทศอันส่งผลต่อความป่วยไข้ของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในแต่ละเขตทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันฉะนั้นภูมิอากาศย่อมผันเปลี่ยนแตกต่างกันตามไปด้วย
- ประเทศสมุฎฐาน หมายสถานที่ตั้งของแหล่งอาศัย
- ฤดูสมุฎฐาน หมายความผันไปของฤดูกาลในเขตประเทศสมุฎฐานนั้น
- อุตุสมุฎฐาน หมายสภาพอากาศในแต่ละฤดูสมุฎฐาน
- กาลสมุฎฐาน หมายเวลาที่ผันไปตามแต่ละฤดูแลประเทศสมุฎฐานนั้นๆ
ประเทศ

ประเทศต่างกันทำให้ฤดูต่างกันๆทำให้กาลต่างกันๆทำให้อุตุต่างกัน ล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กันกระทบกันแปรเป็นสภาพทางภูมิอากาศที่แตกต่างกันไปในแต่ละเขตประเทศสมุฎฐานนั้นๆ
- ในเขตประเทศที่สูง เตโชมักกำเริบ~จากการได้รับความร้อนมากกว่า
- ในเขตประเทศที่ต่ำ วาโยมักกำเริบ~จากการกระทบกันของความร้อนและความเย็น
- ในเขตประเทศที่ราบสูง อาโปมักกำเริบ~จากสภาพความแห้งแล้ง
- ในเขตประเทศใกล้ทะเล ปถวีมักกำเริบ~จากสภาพความผันผวนแปรปรวนของอุตุที่มากกว่าเขตสมุฎฐานอื่นและยังเจือไปด้วยเกลือในอุตุจากท้องทะเล

ฤดู
ประเทศต่างกันแต่ฤดูเดียวกันก็มีความแตกต่างกันของสภาพภูมิอากาศเนื่องด้วยสภาพทางภูมิประเทศนั้นเป็นเหตุเช่น
- ในฤดูหนาว อากาศเย็นในเขตที่สูงจะมากกว่า อากาศเย็นในเขตที่ต่ำกว่า
- ในฤดูฝน ความแตกต่างของอุตุร้อนกระทบเย็นในเขตใกล้ทะเลจะมากกว่า ในเขตที่ต่ำ
- ในฤดูร้อน อากาศร้อนในเขตที่ราบสูงจะร้อนแห้ง แต่ในเขตที่ต่ำจะร้อนชื้น ส่วนที่สูงจะร้อนมากกว่าเขตอื่นๆ

อุตุ
อุตุก็เช่นกันจะแตกต่างกันไปไม่เท่ากันในแต่ละเขตประเทศและในแต่ละฤดูกาล
- อุตุร้อนในเขตที่สูง~จะร้อนมากกว่าในเขตที่ต่ำ
- อุตุเย็นในเขตที่สูง~จะเย็นมากกว่าในเขตใกล้ทะเล
- อุตุชื้นในเขตที่ต่ำ~จะมากกว่าในเขตที่ราบสูง

กาล
กาลในแต่ละเขตประเทศสมุฎฐานก็แตกต่างกันแลส่งผลมากน้อยแตกต่างกัน
- กาลเสมหะในเขตที่ราบสูง~จะส่งผลมากกว่าในเขตที่สูง
- กาลปิตตะในเขตที่สูง~จะส่งผลมากกว่าในเขตใกล้ทะเล
- กาลวาตะในเขตที่ต่ำ~จะส่งผลมากกว่าในเขตที่สูง

แพทย์แผนไทยจักต้องคำนึงถึงในสิ่งเหล่านี้เพราะเป็นมูลวินิจฉัยหนึ่งของแพทย์ในอาการป่วยไข้นั้น เขตที่สูงมักพบอาการทางปิตตะ เขตที่ต่ำมักพบอาการทางวาตะ เขตที่ราบสูงมักพบอาการทางเสมหะ เขตใกล้ทะเลมักพบอาการทางธาตุดิน สมุฎฐานการเจ็บป่วยนั้นจักผันตามธาตุดั่งนี้
- เขตที่สูง ไฟกำเริบ~ลมกำเริบ~น้ำหย่อน
- เขตที่ต่ำ ลมกำเริบ~น้ำหย่อน~ไฟกำเริบ
- เขตที่ราบสูง น้ำกำเริบ~ไฟหย่อน~ลมหย่อน
- เขตใกล้ทะเล ไฟ,ลม,น้ำ กระทำต่อธาตุดิน (ด้วยมีความผันผวนของอากาศมากกว่า)

ส่วนธาตุนั้นจักผันแปรออกไปเช่นใดต้องพิจารณาจากฤดูสมุฎฐานเช่น ในเขตที่สูงเข้าฤดูร้อนสมุฎฐานปิตตะกำเริบวาตะกำเริบเสมหะหย่อน เข้าฤดูหนาวสมุฎฐานปิตตะหย่อนวาตะหย่อนเสมหะกำเริบ เข้าฤดูฝนสมุฎฐานวาตะกำเริบเสมหะหย่อนปิตตะกำเริบ แต่เนื่องจากเขตที่สูงมีปิตตะเป็นเจ้าเรือนอาการทางปิตตะกำเริบหรือหย่อนจึ่งมากกว่าผู้อยู่อาศัยในเขตอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อเข้ากาลสามยามที่สองปิตตะนั้นเป็นเจ้า จะสังเกตุได้ว่าการพิจารณาจะเชื่อมโยงกันไปจากประเทศไปฤดูไปกาลไปอุตุ จะมุ่งไปที่ปิตตะเป็นสำคัญกว่าวาตะและเสมหะ
การเคลื่อนตัวและพลังงานแห่งพระอาทิตย์เป็นผู้กำหนดฤดู/อุตุ/กาล ต่างกันไปตามประเทศสมุฎฐานดวงดาราบนท้องฟ้านั้นส่งผลต่อสภาพดินฟ้าอากาศยิ่ง ไฟไป-ลมมา-พัดพาน้ำ-ฤดูร้อนไป-ฤดูฝนมา-ตามด้วยฤดูหนาว ปิตตะไป-วาตะมา-ตามด้วยเสมหะ วนเวียนเป็นวัฎฐะแห่งธรรมชาติธรรมดา กระทบต่อสรรพสัตว์ให้ต้องปรับตัวไปตามกระแสแห่งธรรมชาตินั้นฝืนมิได้

อุตุร้อนมากินอยู่แบบอุ่นเย็น อุตุเย็นมากินอยู่แบบอุ่นร้อน อุตุฝนมากินอยู่แบบอุ่นๆไม่ร้อนไม่เย็น กินอยู่ให้ถูกอุตุ,ถูกฤดู,ถูกกาล,ถูกประเทศ ผิดไปย่อมกระทบทำให้เจ็บป่วยไข้ได้ แพทย์แผนไทยจึ่งใช้ความรู้นี้ในการประเมินเหตุแห่งความเจ็บไข้และคำแนะนำเรื่องการกินการอยู่
ความรู้จากพระคัมภีร์ทั้งสองเล่มดังกล่าวมีคุณต่อการวินิจฉัยของแพทย์อย่างยิ่งสมควรนำมาใช้ เพราะส่งผลโดยตรงต่อการพิจารณาเหตุแห่งความเจ็บป่วย,การสั่งการรักษา,การตั้งตำรับยารักษา,การกำหนดกระสายยา,เวลาทานยา,การทำหัตถการต่างๆ ตลอดทั้งทำให้แพทย์สามารถประเมินการพัฒนาการของอาการได้อีกด้วย นับเป็นประโยชน์ยิ่งสมควรศึกษาให้ถ่องแท้และเรียนรู้วิธีนำความรู้นี้มาใช้ปฎิบัติการทางการแพทย์อย่างเป็นรูปธรรมได้

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้