Last updated: 21 ก.พ. 2560 | 2850 จำนวนผู้เข้าชม |
"เรื่องของจิต ในการแพทย์แผนไทยดั้งเดิม"
ในแบบแผนแห่งภูมิปัญญา"การแพทย์แผนไทยฉบับ ราชสกุลทินกร"
บทความโดย แพทย์แผนไทยคมสัน ทินกร ณ อยุธยา (พท.ว/พท.ภ)
สำนักคลินิกการแพทย์แผนไทยหม่อมราชวงศ์สอาด ทินกร และในสังกัดบริษัทภูลประสิทธิ์ จำกัด
บทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ บริษัทภูลประสิทธิ์ เท่านั้น (ขออนุญาติก่อนนำลงเผยแพร่ต่อไป)
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
ดั่งคำกล่าวที่ว่า "กายเป็นนาย ใจเป็นบ่าว" เฉกโบราณว่าไว้เป็นความจริงแท้ เช่นเมื่อกายมีความต้องการสิ่งใดจักไปปรากฎที่ใจเกิดเป็นอาการหิวข้าวหิวน้ำ ใจเราจะรับรู้ก่อน หากเราไม่ปฎิบัติตามเจ้านายหมายกาย จักลงโทษเราด้วยอาการตาลาย ตาพร่า มือไม้สั่น เป็นลมหน้ามืดได้ อาการที่กายจึ่งไปปรากฎที่ใจเป็นลำดับแรกเสียก่อนเสมอ กายจึงเป็นนาย ใจจึงเป็นบ่าวรับใช้กายอีกที หากกายป่วยไข้มีอาการ ก็เฉกเช่นเดียวกันจักไปปรากฎบอกที่ใจว่ากายนั้นป่วยแล้ว ใจเมื่อรับรู้จึงพากายไปรักษา
ด้วยเหตุฉะนี้หมอไทยแต่นานมาจึ่งรักษากายพร้อมรักษาใจผู้ไข้ไปพร้อมกันเสมอมา แลสอนสั่งเหล่าศิษย์ให้เข้าใจในจิตเพื่อเข้าใจในใจของตนแลผู้ไข้ ใจหมอจึ่งต้องเข็มแข็งแลมีสติมั่นเพื่อรักษาใจของผู้ไข้ที่อ่อนแอกว่านั้นในทุกครั้งของการรักษา
คำว่า "จิต" มีอยู่ในทุกศาสนาของฝั่งชนตะวันออก แลมีความเจริญยิ่งในองค์ความรู้นี้ผ่านทางศาสนาของคนตะวันออกเองทุกศาสนาไม่ว่าจะเป็นพุทธเป็นอิสลามหรือความเชื่อดั้งเดิมอื่นๆอีกมาก จิต ต่างกันกับ ใจ ในพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานกล่าวไว้ดั่งนี้
"จิต" สิ่งที่มีหน้าที่คิด "ใจ" สิ่งที่มีหน้าที่รู้
จิตใจ จึงหมายถึง สิ่งที่ทำหน้าที่รู้แล้วจึ่งคิด รู้หมายสติ คิดหมายปัญญา กายจึงไปบอกใจให้รู้ เมื่อรู้แล้วจึ่งคิดตามที่กายหมายแจ้งนั้น ฉะนั้นเมื่อกายป่วยใจจึงป่วยตามๆที่กายแจ้งแก่ใจ เมื่อใจรู้จิตจึงคิดไปตามที่ใจแจ้ง
จิตหรือเจตสิก เป็นสิ่งที่รับรู้ได้ด้วยใจผ่านทางประสาทสัมผัสทั้งห้าประการ เกิดเป็นความต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามมา นั่นคือสัจจะธรรมชาติเป็นปรกติธรรมดาโลก ชนแพทย์ฝั่งตะวันออกรับรู้เช่นนี้เหมือนกันหมดทุกๆชนไม่ว่าเชื้อชาติใดก็ตาม
บรมครูแพทย์แผนไทยแต่นานมาท่านก็ทราบเช่นดั่งนี้จึ่งมีศาสตร์สำหรับเข้าใจในจิตผู้ไข้ เพื่อเข้าใจแลรักษาพร้อมกันไปกับกายของผู้ไข้นั้น กายป่วยใจป่วยตาม ใจป่วยกายก็ป่วยตาม รักษากายที่กาย รักษาใจที่จิต เพราะจิตเป็นผู้คิดไปรักษาใจอีกที
จิตสำแดงอาการผ่านทางประสาทสัมผัสทั้งห้าเช่น ตาแดง,หูแดง,จมูกแดง,ปากแห้งลิ้นแห้ง,กายอุ่นร้อน สำแดงว่าจิตใจนั้นร้อนรุ่ม มีภาวะทางอารมณ์ความวิตกจริตเป็นอาจิณ จิตพาใจให้ฟุ้งซ่านไป จิตยังสำแดงอาการออกได้ผ่านทางตาดำ แพทย์จักมองที่แววของตาดำว่ามีแววใด เช่นเศร้าหมอง,หดหู่,ร่าเริง,มีความสุข เป็นต้น
จิตหรือเจตสิก จึ่งเป็นผู้กำหนดใจ ใจไปกำหนดกายอีกที มองจิตจึ่งรู้ใจ เห็นในใจจึ่งรู้กาย หมอไทยจึงต้องฝึกจิตของตนเพื่อรู้ใจผู้ไข้ ฝึกจิตเช่นใดครูท่านแจ้งว่า ให้มีความเมตตาเป็นพื้นเสียก่อนจากนั้นใจจะอ่อนโยนตามมา เมื่อใจอ่อนโยนลงจิตจักสงบร่มเย็นเกิดเป็นปัญญาได้ เมื่อเกิดปัญญาเมื่อใดจักเข้าสู่จิตใจของผู้ไข้ได้โดยทันที เป็นธรรมชาติปรากฎขึ้นในจิตของหมอเอง อธิบายไม่ได้เป็นภาษาพูด เพราะสิ่งที่เกิดเป็นภาษาใจ เข้าใจได้ด้วยใจเท่านั้น
" สัมผัสทั้งห้า ผ่านทางกาย เข้าสู่ใจ จากใจตรงไปที่จิต จิตดำริความต้องการนั้น ไปปรากฎที่ใจ ใจสำแดงออก
ผ่านทางสัมผัสทั้งห้าสิ้น เกิดเป็นอาการทางกายตามมาในที่สุด "
หมอไทยจึ่งจำต้อง เรียนกายเรียนใจเรียนจิต เพื่อรักษากายแลใจผู้ไข้ ช่างเป็นความละเอียดอ่อนลึกซึ้งยิ่งแห่งวิชาแพทย์แผนไทยภูมิรู้แห่งบรมครูแพทย์แต่นานมา การสงบกายจักนำมาซึ่งการสงบใจ การสงบใจนำมาซึ่งการสงบของจิต การปฎิบัติสมาธิซึ่งมีในทุกศาสนาของชนตะวันออก เป็นภารกิจที่จำเป็นของแพทย์แผนไทยทั้งนี้เพื่อจักฝึกใจฝึกจิตให้นิ่งให้เกิดปัญญา ใช้สำหรับการวินิจฉัยอาการ,ใช้สำหรับรักษาใจผู้ไข้ หมอไทยจึงมีความเมตตาเป็นพื้นทุกท่านด้วยถูกฝึกการสงบกายมา ใจหมอต้องนิ่งที่สุดเพราะเราจักต้องพบใจอันไม่สงบของผู้ไข้ ใช้ความนิ่งเป็นปัญญารักษา
ลำดับขั้นตอนการฝึกจิตสำหรับแพทย์แผนไทยให้กระทำดั่งนี้
๑. ฝึกความสะอาดทางกาย แลเครื่องแต่งกายต้องเป็นระเบียบสีสะอาดตา
๒. เมื่อกายสะอาดมาก เครื่องแต่งกายงามสม ใจจะรับรู้ความสะอาดและความเป็นระเบียบนั้น
๓. ฝึกความเป็นระเบียบของกริยาสำแดงออก ต้องละเอียดอ่อนปราณีต
๔. ฝึกสายตาให้มองทุกอย่างแบบละเอียดลออและครอบคลุม ดุจดั่งนกเหยี่ยวมองลงมายังพื้นดิน
๕. เมื่อกายสะอาด เครื่องแต่งกายงามสม มีระเบียบชีวิต มีสายตาอันปราณีต ใจจักรับรู้ทั้งหมด
๖. เมื่อใจได้รู้ถึงเพียงนี้ ความเมตตาจักปรากฎต่อสรรพสิ่ง นำมาซึ่งความอ่อนโยนไม่กระด้าง
๗. เมื่อความอ่อนโยนปรากฎ จักปรากฏเริ่มที่ใจก่อน
๘. เมื่อใจอ่อนโยนลง ให้เริ่มฝึกกายให้นิ่ง ให้ใจสงบร่มเย็นด้วยการปฎิบัติสมาธิ สงบกายแลใจพร้อมกัน
๙. เมิ่อกายแลใจนั้นสงบ จิตจักเริ่มนิ่งขึ้นไม่สาดส่ายไปมา จิตสงบเกิดเป็นปัญญาในที่สุด
๑๐. เมื่อจิตนั้นสงบ จักเกิดความเข้มแข็งของจิต จิตที่เข้มแข็งแลสงบนั้นจักเข้าใจเข้าไปในใจของผู้ไข้ได้
๑๑. เมื่อเข้าไปในใจของผู้ไข้ได้เมื่อใด จักรู้ว่าจะรักษาใจผู้ไข้นั้นได้อย่างไรด้วยจิตของหมอเองเท่านั้น
ทั้งหมดแพทย์ต้องฝึกด้วยตนเองไม่มีทางลัดไม่มีสูตรสำเร็จใดใดทั้งสิ้น เพราะเกิดขึ้นที่จิตไม่ใช่ที่กาย
สิ่งเหล่านี้คือธรรมชาติปรกติ มนุษย์สามารถเข้าถึงได้ทุกคนหากปฎิบัติอย่างสม่ำเสมอ แลแพทย์แผนไทย
พึ่งกระทำเช่นนี้อย่างจำเป็นยิ่ง เพื่อสืบสานองค์ความรู้แห่งบรมครูแพทย์แต่นานมานั่นเอง และที่สำคัญเพื่อ
ผู้ไข้ทั้งปวงของแพทย์เอง