การผดุงครรภ์ในการแพทย์แผนไทย

Last updated: 20 ก.พ. 2560  |  16121 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การผดุงครรภ์ในการแพทย์แผนไทย

การผดุงครรภ์ในการแพทย์แผนไทย
จากการถอดองค์ความรู้ของ แพทย์แผนไทยคมสัน ทินกร ณ อยุธยา
ลำดับชั้นที่ ๖ ในสายราชสกุลแพทย์ "ทินกร"
ผู้ถอดองค์ความรู้ วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยประยุกต์อภัยภูเบศ
พฤษภาคม ๒๕๕๗

ความแตกต่างระหว่างเพศชาย กับเพศหญิง
ชาย หญิง
ต่อมลูกหมาก ต่อมมดลูก
อสุจิ ไข่
นม(ไม่มีน้ำนม) นม(มีน้ำนม)
ความต่างของชายกับหญิงตามคัมภีร์มหาโชติรัต
- หญิงมีถันประโยธร คือมีน้ำนม
- หญิงมีที่ประเวณี เป็นลักษณะที่มีความชุ่มเป็น น้ำ ส่วนชายเป็นลักษณะแบบแห้ง เป็นไฟ
- หญิงมีจริตกริยา คือ ลักษณะท่าทาง ความเป็นชายหรือหญิงที่จำเพาะ เช่น หญิงจะลังเล ส่วนชายจะตัดสินใจเด็ดขาด
- หญิงมีต่อมระดู คือต่อมโลหิต

การเลือกคู่ครอง
การเลือกคู่ครองในสมัยก่อนนั้นจะมีพ่อสื่อแม่ชักเป็นคนหาให้ โดยพ่อแม่จะเป็นผู้ไปหาหมอเวชกรรมเพื่อปรึกษา โดยหมอเวชกรรมจะต้องเป็นคนในพื้นที่ หรือในชุมชนนั้น จะดูตั้งแต่ชาติ ตระกูล ความเหมาะสม ฐานะ เป็นต้น และต้องรู้ข้อมูลตั้งแต่ปู่ย่า ตาทวดของแต่ละฝ่าย ทำให้รู้ชาติกำเนิดโรคทั้งสองฝ่าย ถ้ามีลูกจะเหมาะกันหรือไม่ เครื่องเพศทั้งสองฝ่ายจะมีขนาดเหมาะสมกันหรือไม่ เป็นต้น
- ในเพศหญิงจะดูบริเวณหัวตะคาดทั้ง 2 ข้าง ถ้ามีความกว้างมาก (ผาย) ช่องคลอดจะกลมแต่ตื้น อวัยวะเพศจะใหญ่จะทำให้คลอดง่าย แต่เกิดการปฏิสนธิยาก แต่ถ้าหัวตะคาดแคบ ช่องคลอดจะเล็กแต่ลึก อวัยวะเพศจะเล็กจะทำให้คลอดยาก แต่เกิดการปฏิสนธิง่าย และประเมินต่อว่าข้างใดที่กว้างกว่า หากข้างซ้ายกว้างกว่าจะมีโอกาสได้บุตรคนแรกเป็นผู้หญิง หากข้างขวากว้างกว่าจะได้บุตรคนแรกเป็นผู้ชาย (ตามหลักของหญิงซ้ายชายขวา)
- ในเพศชายจะวัดคืบดูระยะห่างตั้งแต่สะดือถึงหัวเหน่า และวัดคืบจากสะดือถึงต่ำจากลูกกระเดือกลงมา 3 นิ้ว แล้วนำมาคำนวณนำจำนวนคืบมารวมกันคิดเป็นคืบละ 2 นิ้ว การที่อวัยวะเพศยาวหรือสั้นไม่ได้ขึ้นกับว่าผู้ชายนั้นจะตัวใหญ่หรือตัวเล็ก แต่ดูระยะห่างเป็นคืบดังกล่าวมาข้างต้น ในการวัดจะต้องใช้นิ้วของผู้นั้นในการวัดเองเพราะแต่ละคนขนาดของนิ้วไม่เท่ากัน หลังจากที่หมอเวชกรรมดูขนาดเครื่องเพศ ดูโรค ดูกาย (ความสมบูรณ์ของร่างกาย) ดูใจว่ามีความเหมาะสมกันดีแล้วจึงจะแต่งงานกันได้ ก่อนจะแต่งงานก็จะมีการดูแลบำรุงทั้งฝ่ายชายและหญิงก่อนเพื่อให้มีความพร้อมบริบูรณ์ในการเตรียมตัวตั้งครรภ์ของฝ่ายหญิง โดยการบำรุงเครื่องเพศทั้งฝ่ายชาย และหญิง บำรุงเลือด ดูแลเรื่องการกินอยู่ เป็นต้น ในสมัยโบราณเมื่อแต่งงานเสร็จแล้วจะต้องทำให้ตั้งครรภ์เลย เนื่องจากต้องรีบมีลูกเพราะอยู่ในช่วงศึกสงคราม ดังนั้นบทบาทของพ่อสื่อแม่ชักในสมัยก่อนนั้นสำคัญมากเพราะเป็นคนหาคู่ แต่คู่ที่ไม่ผ่านพ่อสื่อแม่ชักก็มีเหมือนกัน แล้วแต่ชุมชน (พ่อสื่อหมายถึง การไปบอกลูกโดยพ่อเป็นผู้บอก แม่ชัก คือการไปตกลงกันของแม่ทั้ง 2 ฝ่าย) สมัยก่อนก็จะเป็นหมอเวชกรรมที่เป็นผู้ดูแลมารดาตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ แต่หน้าที่ในการทำคลอดและการดูแลหลังคลอดนั้นจะเป็นหน้าที่ของหมอผดุงครรภ์ (หมอตำแย) ซึ่งทำหน้าที่ร่วมกัน
การหยุดมีลูกนั้นการศึกสงครามจะเป็นตัวกำหนดการมีหรือไม่มีลูก ดังเช่นปัจจุบันที่มีเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนด แต่ไม่ใช่เรื่องสุขภาวะเป็นตัวกำหนดเพราะหมอจะเป็นผู้กำหนดให้ หมอแต่โบราณจะอยู่ในวิถีชีวิตผู้คนมากกว่าพระ ดังจะเห็นได้ว่าหมอสมัยนั้นจะได้รับการนับถือเป็นอย่างมากในสังคม

การปฎิสนธิ
การปฏิสนธิจะเกิดได้เพราะเลือดของพ่อและแม่ผสมกัน คือ เลือดขาวของพ่อ และเลือดแดงของแม่ ในการบำรุงเลือดขาว (อสุจิ) จะต้องรับประทานอาหารที่บำรุงธาตุดินของอสุจิเท่านั้น ซึ่งเป็นอาหารคนละชนิดกับชนิดที่บำรุงธาตุดิน 20 ประการ ซึ่งยาที่เหมาะกับอสุจิเป็นได้ทั้งพืชวัตถุ สัตว์วัตถุ และธาตุวัตถุ แต่ที่เหมาะที่สุดคือ อำพันทองหรือน้ำกามปลาวาฬ ชะมดเช็ด หรือยาหอม เพราะยาหอมกองดีๆ จะเข้าอำพันทอง ชะมดเช็ด ชะมดเชียง

ปัจจัยที่ทำให้สามารถตั้งครรภ์ได้
เพศหญิงจะต้องมีประจำเดือน จึงจะสามารถตั้งครรภ์ได้ แต่ประจำเดือนนี้อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องออกมาในรูปของเลือดประจำเดือน แต่อาจจะมีอาการที่เป็นประจำทุกเดือนปรากฏซึ่งในแต่ละบุคคลอาจจะไม่เหมือนกัน เช่น อยากของเผ็ดเปรี้ยว คัดตึงเต้านม ปัสสาวะสีเข้มขึ้น เป็นต้น


ปัจจัยที่ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้
จากที่กล่าวไปแล้วในปัจจัยที่ทำให้สามารถตั้งครรภ์ได้ ดังนั้น การที่หญิงจะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้จะต้องไม่มีประจำเดือน ซึ่งในคัมภีร์มหาโชติรัตน์ได้กล่าวไว้ถึงเรื่อง สตรีชาติโทษ (ไม่มีประจำเดือน หรือมีมาแล้วกลับแห้งไป) ซึ่งสัมพันธ์กับสาเหตุต่างๆ ดังนี้
1. จากชาติสัมพันธ์ตระกูล
2. จากกรรมกำเนิด
เช่น ในอดีตชาติเคยทำแท้ง เป็นต้น ทั้งนี้แพทย์จะไม่สามารถทราบได้ เป็นเพียงแค่การสันนิษฐานเท่านั้น แต่สิ่งที่สามารถบอกได้คือธาตุปฏิสนธิของหญิงนั้น เพราะ หญิงที่มีธาตุปฏิสนธิเป็นดิน และน้ำจะมีครรภ์ง่าย (เพศภาวะปกติของหญิงมีลักษณะดั่งน้ำ จึงเป็นที่มาของคำว่าแม่เนื้อเย็น) ส่วนหญิงที่ปฏิสนธิธาตุไฟ และลมจะมีครรภ์ยาก (เพราะเป็นเพศภาวะปกติของเพศชาย)
หมายเหตุ ส่วนใหญ่หากบิดาและมารดามีเพศสัมพันธ์กันและปฏิสนธิในวันใด ลูกมักจะกำเนิดในวันนั้น เช่น หากบิดา และมารดามีเพศสัมพันธ์กันในวันศุกร์ ลูกจะกำเนิดในวันศุกร์ เป็นต้น
3. จากอาหาร
อาหารไทยจะมีรสร้อน การรับประทานอาหารไทยจะทำให้ปลูกไฟธาตุอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การรับประทานอาหารที่ไม่ใช่อาหารไทยบางจำพวกทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ได้ยาก เช่น ถั่วเหลืองซึ่งมีฤทธิ์เย็นมาก เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศของแต่ละที่ด้วย เช่น ในประเทศจีนมีการรับประทานถั่วเหลืองเป็นประจำแต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการผิดปกติในการตั้งครรภ์ เป็นต้น
4. จากการหักโหมทำงานหนัก และความเครียด
อีกประการหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อาจเกิดจากเพศชายมีความผิดปกติ ซึ่งแพทย์จะสังเกตจากลมกองลงล่าง หากลมกองลงล่างหย่อนจะทำให้ไม่มีกำลังลมไปดันเลือดให้ไหลลงไปเลี้ยงอวัยวะเพศ ทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัว จึงมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ นอกจากปัญหาทางกาย (อวัยวะเพศไม่แข็งตัว) แล้วยังมีปัญหาทางใจ เช่น อาจจะเกิดจากความเครียดจากการทำงาน เป็นต้น แพทย์อาจให้การรักษาโดยการให้ยาหลอก เช่น จ่ายยาบำรุงโลหิตแต่หลอกผู้ป่วยว่าเป็นยาที่จะช่วยให้อวัยวะเพศแข็งตัว เป็นต้น

การกำหนดเพศของทารก
ส่วนใหญ่คนไทยจะมีลูกสาวมากกว่าลูกชาย ดังนั้น หากต้องการลูกชายก็จะเป็นหน้าที่แห่งหมอไทยที่จะพึงช่วยเยียวยา โดยมีหลักการใหญ่ๆ ดังนี้
1. พิเคราะห์กรรม
เหตุจากกรรมในชาติก่อนๆ เช่น ในอดีตชาติต้องการจะไปทำบุญที่วัดจึงไปชวนเพื่อนๆ แต่เพื่อนปฏิเสธ จึงเกิดความลังเล (จริตของเพศหญิง) ที่จะไป เหตุเช่นนี้ในชาติถัดไปมีโอกาสที่จะเกิดเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในทางกลับกันหากมีใจมุ่งมั่น (จริตของเพศชาย) ว่าจะไปไม่ว่าจะมีเพื่อนไปหรือไม่ไป เหตุเช่นนี้ในชาติถัดไปมีโอกาสที่จะเกิดเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง เป็นต้น
2. ดูชาติสัมพันธ์ตระกูล
เช่น ต้นตระกูล (ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่) มีแต่ลูกผู้หญิง ก็มีโอกาสที่จะได้ลูกผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
3. หากเกิดแก่โรค หรือสรีระของชายแลหญิงก็เติมสิ่งที่ต้องการหรือแก้ไขลงไป อาทิ
1. บำรุงไฟราคะณัคคี,บำรุงกำลังกาย,บำรุงกำลังใจ
2. ดูแลแต่งเติมต่อมชาย,ต่อมหญิงให้บริบูรณ์พร้อม
3. กระทำหัตถบำบัดในชาย,หญิงเติมสิ่งขาดเพิ่มสิ่งดี
3.1 หญิงที่องค์ประกอบทางสรีระเหมาะแก่การกำเนิดบุตรหญิง แต่ต้องการบุตรชายก็ต้องเติมความเป็นชายเข้าไป
3.2 ชายที่องค์ประกอบทางสรีระเหมาะแก่การกำเนิดบุตรหญิงก็ต้องเติมความเป็นหญิงเข้าไปก่อน เพื่อให้ความเป็นชายเร่งสร้างตัวโดยสูตรยาบำรุงฮอร์โมนเพศหญิง ได้แก่ ว่านชักมดลูก, กวาวเครือแดง, รากสามสิบ, กวางหีแฉะ, เหง้ากล้วยน้ำว้า(ไม่แก่ไม่อ่อนเกินไป) 5ส่วน ใส่ร่วมกับคำไทย, คำแสด, คำฝอย 3 ส่วน ฝางส้ม, ฝางเสน1 ส่วน และเถาบอระเพ็ด , เถาวัลย์เปรียง, เถานาคราช(เฟิร์นชนิดหนึ่ง), เถากระไดลิง, เถาคันแดง 1 ส่วน โดยนำสมุนไพรทั้งหมดห่อใส่ผ้าต่วน(ห้ามสะตุ) จากนั้นเทเหล้าใส่ให้ท่วมยาและเดาะน้ำผึ้งลงไป ดองทิ้งไว้ 10 วัน หลังจากนั้นให้เอา กวางหีแฉะกับฝางเสน ต้ม 3 เอา1 ใส่ลงไป2 ส่วนและเติมน้ำผึ้งเดือนห้า1 ขวด และน้ำตาลกรวดอีก 2 ก้อน ทิ้งไว้อีก10 วัน เอาขึ้นกรองรับประทานวันละ 1เป๊ก ล้างปากด้วย ชาเขียว 1 เป๊กก่อนนอน รับประทานจนรู้สึกว่าร้อนหน่วงลงล่างจึงหยุด หรือไม่ควรเกิน 3 เดือน (90 วัน)จากนั้นจึงเติมความเป็นชายเข้าไป โดยจะใช้สูตรกลุ่มยาดองที่เข้ายากำลังต่างๆ ได้แก่ ปลาไหลเผือก, กระดอหีหัก เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มขนาดของอวัยวะเพศชายให้ยาวขึ้นเพื่อจะได้ส่งไปยังเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งทั้งนี้อาจารย์ได้พยายามเชื่อมโยงกับการแพทย์แผนปัจจุบันว่า ในการทำงานของโครโมโซม Y จะเคลื่อนตัวได้ช้า ดังนั้นต้องเพิ่มให้ขนาดอวัยวะเพศชายให้ยาว อสุจิจะได้ถึงมดลูกก่อนโครโมโซมX ที่เป็นตัวกำหนดเพศหญิงที่เคลื่อนไหวเร็ว
ยกตัวอย่างการบำรุงเพศชายและหญิงเพื่อให้ได้บุตรชาย เช่น ผู้ชายจะให้ยาบำรุงเลือดสตรีให้รับประทานนาน 1 เดือน เพื่อให้ความเป็นเพศชายเร่งสร้างตัวขึ้นมา จนสังเกตว่าพฤติกรรมทางเพศแปรเปลี่ยน เช่น จากคนที่มีอารมณ์ทางเพศรุนแรง เร็ว เปลี่ยนมาเป็นนุ่มนวล จึงหยุดยา จากนั้นจึงเริ่มเติมเลือดชายด้วยการให้ยาดองเพิ่มฮอร์โมนเพศชาย โดยมีสมุนไพร ได้แก่ กำลังต่างๆ, ปลาไหลเผือก, กระดอหีหัก เป็นต้น เพื่อปรับโลหิตของชาย พร้อมกับการจัดการเครื่องเพศชายให้มีขนาดยาวขึ้น ในระหว่างการบำรุงนี้ห้ามมีเพศสัมพันธ์ แต่หากจะมีต้องมีการป้องกันโดยการสวมถุงยางอนามัย จนกว่าหมอจะบอกว่าให้หยุดคุมกำเนิดได้ เพราะเกรงว่าจะปฎิสนธิให้กำเนิดหญิงอีก นอกจากการรักษาทางยาแล้วยังให้คำแนะนำว่าในการปรุงอาหารรับประทานทุกมื้อจะต้องมีกระชายเหลืองเป็นส่วนประกอบด้วย ในเพศหญิงก็จะรักษาโรคที่เป็นก่อนเช่น มดลูกตะแคง ด่ำ ลอย มีตกขาวมาก เป็นต้น จะต้องรักษาให้อยู่ในภาวะปกติเสียก่อน จากนั้นจึงบำรุงให้มดลูกกระชับ
นอกจากนี้โบราณยังกล่าวอีกว่าหากต้องการบุตรชายนั้น เพศชายจะต้องรับประทานทุเรียนเพราะมีรสร้อน แต่ไม่ควรรับประทานมากเกินไปเพราะจะทำให้ร้อนเกิน และอีกวิธีคือการนำขี้เถ้าละลายน้ำ จากนั้นนำอวัยวะเพศชายแช่ลงไปในน้ำขี้เถ้า แล้วจึงไปมีเพศสัมพันธ์จะทำให้ได้บุตรชาย

การสังเกตหญิงตั้งครรภ์
หลังจากมีเพศสัมพันธ์กันแล้วแพทย์แผนไทยจะสามารถรู้ได้ว่ามีการปฏิสนธิกันหรือไม่ โดยสังเกตได้ ดังนี้
1. ดูความอิ่มของหญิง ใบหน้าจะอิ่ม อิ่มอก อิ่มใจ จับตัวดูจะไม่เย็นจะอุ่นขึ้นโดยจะสามารถสังเกตได้จากวันรุ่งขึ้นหลังการมีเพศสัมพันธ์
2. จริยาของหญิงนั้นจะเย็นขึ้น แช่มชื่นขึ้น
3. ทำนาบขึ้น หมายถึง ท่าทางในการเดินจะช้าลง
4. มีอาการแพ้ท้องเนื่องจากวาตะนิ่งไม่เคลื่อนไหว



กลไกการตั้งครรภ์ตามทฤษฎีแพทย์แผนไทย

เมื่อชายและหญิงมีเพศสัมพันธ์กันจะเกิดการแลกเปลี่ยนโลหิตซึ่งกันและกันจะทำให้ปรากฏความบริบูรณ์ขึ้น สังเกตได้จากมีความสดชื่น อารมณ์ดีหลังเสียพรหมจรรย์ เมื่อธาตุเกิดการปฎิสนธิขึ้นในครรภ์ภาวะของกองธาตุในร่างกายจะปรากฏว่าปิตตะเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากการสะสมของเลือดจนรวมเป็นกายทารกมาฝังในร่างกายของมารดา จากนั้นปิตตะจะต้องค่อยๆหย่อนลงตามลำดับ วาตะจะเริ่มนิ่งเพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือน เสมหะในกายมารดาจะพัดเข้าจนบริบูรณ์จนถึงวันที่ครบกำหนดแห่งการคลอด
ถ้ามองในธาตุ 42 การ การตั้งครรภ์จะทำให้ดินเพิ่ม (มังสังเพิ่ม) น้ำเพิ่ม เพราะต้องการการหล่อเลี้ยง ร่างกายจึงต้องการน้ำมาก ดังนั้น ไฟจะเพิ่มมากขึ้นในระยะแรกเท่านั้น และจะค่อยๆลดลง ลมต้องนิ่งเข้าไว้ เพื่อรักษาครรภ์ การรักษาครรภ์นั้นต้องคอยดูครรภ์ตลอด ดูอาการแม่ตั้งแต่แพ้ท้อง แม่กินอะไรบ้าง แพ้ของร้อนหรือแพ้ของเย็น ถ้า แพ้ของเย็นให้กินยาร้อนเข้าไป ถ้าแพ้ของร้อน ต้องให้กินของเย็น กินยาเย็นเข้าไป เพื่อให้ไฟ และลมนิ่ง
กลไกการเกิดของทารก ดินจะเกิดก่อน เลือดเลี้ยงดีดินก็เจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ แต่ในระหว่างที่แม่ต้องการน้ำไปเลี้ยงเพื่อให้ดินบวมและฉ่ำ (เจริญเติบโต) ต้องใช้น้ำในปริมาณที่สูง แม่จะต้องรับประทานอาหารเข้าไปเพื่อไปเปลี่ยนเป็นน้ำในร่างกาย ถึงต้องมีสายสะดือไว้กรอง ในขณะตั้งครรภ์แล้วไฟจะต้องไม่เกิด ถ้าจับตัวคนที่ท้องจะพบว่าไม่ร้อน ตัวจะเย็น ถ้ามารดาตัวเย็นอยู่แล้วจะเย็นหนักกว่าเดิมเพื่อให้น้ำบังเกิด

การดูแลรักษาครรภ์
ตั้งแต่แรกจนถึง 6 เดือนด้วยการให้อาหารบำรุงเสมหะ คือ อาหารรสเย็น หลังจากนั้นจะเริ่มให้ยาหอมลมกองละเอียดเพิ่มเตรียมให้ลมเคลื่อนไหว เมื่อครบกำหนดคลอดก็จะให้ยาหอมลมกองละเอียดในปริมาณที่สูงเพิ่มให้ลมทำงานได้มากขึ้น เพื่อเพิ่มลมเบ่งช่วยให้มารดาไม่ต้องออกแรงเบ่งมาก ทารกจะคลอดง่าย

กลไกการคลอดตามทฤษฎีแพทย์แผนไทย

เมื่อครบกำหนดแห่งการคลอดหญิงตั้งครรภ์จะบวมถึงที่สุดกำเดาอุ่นกายจะเริ่มเพิ่มมากขึ้น ทำให้วาตะมา และผลักเสมหะออกเสมหะจะต้องเริ่มหย่อนออกจึงเข้าสู่กระบวนการคลอดทารก การคลอดจะทำให้ธาตุไฟและลมลดลง เพราะฉะนั้นตอนคลอดต้องกินยาหอมเพื่อให้ลมมีการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดลมเบ่ง ซึ่งจะขึ้นมาจากด้านบนลงมาข้างล่าง เพื่อให้ยาหอมลงกองเบ่ง ไม่ใช่ให้ยาหอมลงกองท้อง กลไกการคลอด เป็นกลไกคล้ายการมีประจำเดือน คือ ตัวผู้หญิงจะอุ่น เพราปิตตะบังเกิด ลมจะบังเกิดตามซึ่งเป็นลมกองนอกไส้ (ท้องผู้หญิงจะบวมเล็กน้อยเวลามีประจำเดือน) ลมจะดันออกมาเพราะลมนอกไส้เกิดขึ้น ท้องจะป่องเพื่อจะดันเอาเลือดประจำเดือนออกมา ดังนั้น ผู้หญิงก่อนประจำเดือนมาให้กินของเย็น อาหารที่เหมาะกับผู้หญิงคือ อาหารรสเย็นขม หรือขมเย็น อาหารของผู้ชายคือ ร้อนเพราะถูกกับภาวะของผู้ชายของเพศเขา ผู้ชายจะตัวเย็นไม่ได้ น้ำอสุจิเป็นดิน แต่ไม่ได้อยู่ในดิน 20 ประการ อสุจิไม่ได้เป็นของเหลว เพราะอสุจิลักษณะจะข้น (มีดินมากกว่า) ไม่อย่างนั้นอสุจิจะไม่สามารถเกาะกันเป็นก้อนได้

ลมกัมชวาติ
จะเกิดขึ้นขณะที่คลอด เป็นลมที่พัดแรงมาก แต่อาจจะไม่เกิดกับทุกคนได้ เพราะขณะที่คลอดนั้นปิตตะ วาตะ เสมหะจะเปลี่ยน คือ ปิตตะจะขึ้นสูงสังเกตแม่ที่คลอดความดันโลหิตจะขึ้นสูง (ปิตตะจะขึ้นสูงและลมจะขึ้นตาม ซึ่งตอนนี้ลมกัมชวาติจะเกิดขึ้นแล้ว) ลมกัมชวาติจะค่อยๆ เมื่อคลอดจะเกิดสันนิบาต (จะประชุมกันก่อน) เพราะเด็กกำลังจะเกิดมาจึงคล้ายภาวะสันนิบาต จะทำทุกอย่างให้เด็กผุดหรือคลอดออกมาให้ได้ เรียกว่า “สันนิบาตปกติ” เป็นกลไลการทำงานของมารดา ถ้าเด็กยังไม่ออกมาอีกจะเรียกภาวะนั้นว่า “มหาสันนิบาต” จะทำให้แม่ตาย เพราะถ้าสันนิบาตเข้าแล้วจะต้องออก ถ้าไม่ออกจะต้องใช้ยาหอมเข้าช่วย เพื่อให้เกิดลมมากขึ้นเพื่อเอาเด็กออก ซึ่งแต่ก่อนยาหอมจะอยู่ข้างมือหมอที่ทำคลอด ถ้าเด็กคลอดแล้วไม่จำเป็นต้องทานยาหอมอีก เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้วน้ำคร่ำจะออกแต่น้ำที่แทรกอยู่ในมังสะ(มังสะคือทั้งหมดที่เป็นอวัยวะในที่นี้กล่าวถึงมดลูก) หรือน้ำอื่นๆยังไม่ออก ยังขังอยู่ ดังนั้น จึงต้องมีการอยู่ไฟให้น้ำงวด ยาก็ต้องรสร้อนทั้งหมด เพื่อให้เกิดกำเดาอุ่นกายขึ้นสูงมากๆ เพื่อไปเอาน้ำที่อยู่ในมังสะออกไม่ว่าจะเป็นทางเหงื่อ ทางปัสสาวะของมารดา ซึ่งขณะนั้นเสมหะยังอยู่ข้างใน วาตะก็ยังอยู่ ดังนั้นถึงต้องทำหลังคลอดไม่เช่นนั้นวาตะจะนิ่ง พออยู่ไฟกำเดาอุ่นกายเกิด ลมก็จะเกิด เคลื่อน ผลักดันน้ำออกมา ดังนั้น ตั้งแต่ปฏิสนธิน้ำจะเริ่มขึ้นจะกระทั่งคลอด แต่พอคลอดจะเกิดสันนิบาตของวาตะ ปิตตะ เสมหะ จนทำให้เด็กคลอดออกมา เมื่อคลอดเสร็จน้ำก็จะยังคงเหลือยู่ ลมกัมชวาติหยุดทำงาน ไฟก็จะดับเช่นกัน

การใช้ยาหอมช่วยในการคลอด
ปัจจุบันมียาหอม 2 ยี่ห้อที่สามารถดึงลมจากสมองมาสู่ลมเบ่ง คือ ยาหอมภูลประสิทธิ์ เป็นผง ส่วนใหญ่ใช้อมใต้ลิ้น เพราะจะซึมซาบเข้าได้เร็วที่สุด (เหมือนยารักษาโรคหัวใจ) โดยจะใส่ไว้ที่ใต้ลิ้นเพราะความรู้สึกสัมผัสจะไวกว่ามาก ยาหอมภูลประสิทธิ์เป็นยาที่ใช้ช่วยในการคลอด ออกฤทธิ์ได้เร็วเพื่อไปดันเอาลมตั้งแต่ศีรษะของมารดาลงเบื้องล่าง ถ้าใช้ยาหอมเทพจิตรารมย์ฤทธิ์ในการคลอดนั้น โอสถสารไม่พอทันกาล คือ ใช้ไม่ได้เลย จะใช้ยาหอมเมื่อลมเบ่งน้อย และต้องการให้ลมเบ่งออกมากที่สุด แม่จะทรมานน้อยที่สุด โบราณกล่าวว่า “เด็กที่คลอดธรรมชาตินั้นจะแข็งแรงกว่าเด็กที่ผ่าคลอด และจะดื้อน้อยกว่า กลุ่มตัวยาที่เหมาะกับการคลอด คือ ยารสเย็นและสุขุมจะช่วยให้การคลอดนั้นดีขึ้นยาหอมหมอหวานที่เสาชิงช้า เป็นเม็ดยาปิดทอง ซึ่งทองจะมีสรรพคุณซาบเนื้อ และซาบยา คือ ทองจะติดที่ผิวยาแล้วจะซาบเข้าไปในผิวยา ทำให้ยาซาบเข้าไปได้เร็วขึ้น การออกฤทธิ์จะเริ่มที่ท้องแล้วขึ้นบน ตัวยาเป็นลมกองละเอียด เป็นตัวยาที่เอาลมสูงลงล่าง แทนที่ตัวยาจะเป็นผง แต่เป็นเม็ดแล้วปิดทอง ส่วนตำรับยาหอมภูลประสิทธิ์ไม่ใส่เคลือบทองนั้น เพราะทำเป็นยาผง ทำเป็นยานัตถุ์เพื่อให้เข้าระบบประสาท ยานัตถุ์จะใช้เมื่อมีปัญหาเรื่องลมบนถึงจะนัตถุ์ เพื่อดึงลมบนลงล่าง ยาหอมบางชนิดสามารถอมในปากได้ แต่บางครั้งไม่สามารถไปบอกคนไข้ให้ทำตามได้ เพราะคนไข้กลืน

การทำแท้ง
วิธีการทำแท้งทำให้ลมกัมมชวาติเกิด เพื่อดันเด็กออก สามารถใช้ยาไปทำให้เกิดได้ ทำให้มดลูกบีบตัว ยาทำแท้งต้องวางยาเป็นยารสร้อนทั้งหมด ส่วนยาหอมนั้นไม่สามารถทำแท้งได้เนื่องจากมีความแรงไม่พอ

การดูแลมารดาหลังคลอด
1. การพันผ้าหน้าท้อง จะช่วยป้องกันผิวเนื้อไม่ให้แตกเป็นลายงา ถ้าแตกแล้วต้องดึงให้แน่น เพื่อไล่ทั้งลมและน้ำออก เป็นการช่วยบีบให้ทุกอย่างมันออกไป ท้องก็จะยุบเร็ว โบราณมีน้ำกระสายยาที่ช่วยขับน้ำ ขับลม
2. ยาประสะน้ำนม หรือประสะล้างใช้ในกรณีน้ำนมเป็นโทษแล้ว ทำให้น้ำนมสะอาดขึ้น แต่ไม่ได้เพิ่มปริมาณน้ำนม ถ้าเพิ่มน้ำนมก็จะใช้เกษียรธารา (เกษียร แปลว่า น้ำนม ธารา แปลว่า น้ำ)จะเริ่มให้รับประทานตั้งแต่เดือนแปด ยาหอมภูลประสิทธิ์จะให้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์แต่ให้ปริมาณน้อย เป็นครรภ์รักษา การที่ให้ยาหอมในระหว่างตั้งครรภ์จะช่วยปรับลมให้ลมนิ่ง เพราะยาหอมภูลประสิทธิ์มีลมร้อนและลมเย็นอยู่ในตัว เหมือนยาปรับลม ปรับน้ำ ทำให้ความดันโลหิตที่สูงลดลง ความดันที่ต่ำเพิ่มขึ้น แต่หญิงตั้งครรภ์ห้ามรับประทานยาหอมชนิดอื่นเด็ดขาด
การสังเกตน้ำนม
วิธีการดูน้ำนมดีหรือชั่ว คนสมัยก่อนจะมีการหยดเพื่อดูลักษณะ แบ่งเป็นน้ำนม 4 ประการตามในตำรากล่าว คนโบราณจะต้องมีแม่นม เพื่อทดแทนในกรณีแม่มีน้ำนมชั่ว และในบางกรณี เช่น คนที่มีเชื้อเจ้าจะไม่ให้ลูกกินนมของตัวเอง จึงต้องหาแม่นมไว้ เป็นต้น

การดูแลทารกหลังคลอด
หมอตำแยจะมีวิธีการบอกกับแม่ไว้อยู่แล้ว นอกจากนี้ปู่ย่าตาทวดที่มีประสบการณ์มาก่อนจะรู้เมื่อมีการเจ็บไข้ได้ป่วย ยากินของเด็กสมัยก่อนจะมีเพียงยาต้มและยาผง เพราะคนสมัยก่อนจะจับกรอกที่ปากเลย หรือเอาผงไปละลายน้ำแล้วจับกรอกเลย จะไม่ให้เด็กกินเป็นผง ซึ่งปริมาณของยาจะน้อยลง (เมื่อเทียบกับปริมาณยาที่ใช้ในผู้ใหญ่) แล้วแต่ประสบการณ์ของหมอ โดยหมอจะพิจารณาจากอาการ กำลังกาย หมอสมัยก่อนจะมีวิธีการคำนวณของเขาเองด้วยวิธีการ และประสบการณ์ ไม่มีกฎแน่นอน วิธีการคิดต้องคิดแบบไทย จะคิดแบบฝรั่งไม่ได้ การจ่ายยาจะต้องจ่ายโดยหมอยาสมุนไพร

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้